
หัวใจของคนเราจะแบ่งออกเป็น 4 ห้อง คือ 2 ห้องบน และ 2 ห้องล่าง โดยแบ่งออกเป็น 2 ซีก คือ หัวใจซีกขวาจะทำหน้าที่รับเลือดที่ถูกใช้งานแล้วจากร่างกาย และส่งต่อไปยังปอดเพื่อรับออกซิเจน และเมื่อได้รับออกซิเจนแล้วจะส่งต่อไปยังหัวใจซีกซ้าย เพื่อสูบฉีดโดยผ่านเส้นเลือดใหญ่ส่งไปทั่วร่างกายของเรา
อาการของโรคหัวใจ
อาการที่คุณควรสังเกตตัวเองว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจมีดังนี้
- เจ็บหรือแน่นหน้าอก ลักษณะของการเจ็บหรือแน่นหน้าอกจะมีลักษณะเฉพาะ คือ หายใจอึดอัด รู้สึกแน่นที่กลางหน้า เหมือนมีอะไรทับหน้าอกเมื่อคุณหายใจ ซึ่งอาการนี้จะเกิดขึ้นในช่วงที่หัวใจต้องทำงานหนัก เช่น ขนของหนัก ออกกำลังกาย เป็นต้น
- รู้สึกเหนื่อยเมื่อออกกำลังกายเพียงเล็กน้อย ปกติออกกำลังกายก็จะต้องเหนื่อยอยู่แล้ว แต่ผู้ที่เป็นโรคหัวใจจะรู้สึกเหนื่อยมากแม้ออกกำลังกายเพียงเล็กน้อย
- ใจสั่นและหัวใจเต้นผิดจังหวะ จะมีอาการ เหนื่อยง่าย ใจสั่น หายใจไม่ทัน โดยอัตราการเต้นจะอยู่ที่ 150 -250 ครั้ง/นาที เลยทีเดียว
สาเหตุทั่วไปของอาการโรคหัวใจ
สำหรับสาเหตุของโรคหัวใจส่วนใหญ่มักจะเกิดจาก การสูบุหรี่หรือการสูดดมควันบุหรี่เป็นประจำรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง อาหารหวาน และอาหารเค็ม ทั้งนี้โรคหัวใจแต่ละชนิดก็จะมีสาเหตุที่แตกต่างกันออกไป
ภาวะแทรกซ้อนโรคหัวใจ
ผู้ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจจะต้องระวังภาวะแทรกซ้อน ซึ่งภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นนั้นก็ขึ้นอยู่กับชนิดของโรคหัวใจที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ด้วย ดังนี้
- หัวใจล้มเหลว
- หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
- โรคหลอดเลือดในสมองขาดเลือด
- โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ
- โรคหลอดเลือดแดงโป่งพอง
การป้องกันโรคโรคหัวใจ
ในการป้องกันโรคหัวใจสามารถทำได้ด้วยการดูแลตนเองตั้งแต่เริ่มต้น ดังนี้
- หมั่นสังเกตอาการของตนเองอยู่เสมอว่ามีอาการเหล่านี้หรือไม่ เช่น เหนื่อยง่าย ใจสั่น หายใจไม่ทัน เจ็บหน้าอกบ่อยๆ หากมีอาการควรรีบพบแพทย์ทันที
- ออกกำลังกายที่เหมาะสมกับตนเองอยู่เป็นประจำ เพื่อสร้างความแข็งแรงให้กับร่างกาย
- รับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ และเป็นอาหารที่ช่วยบำรุงหัวใจก็จะดี
- ควรตรวจสุขภาพประจำปีอยู่เสมอ หากตรวจพบตั้งแต่เริ่มต้นจะได้เตรียมการรักษาได้ทันเวลา
- ควรควบคุมอาหาร และน้ำหนัก ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
- พยายามอย่าเครียด เพราะความเครียดเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เป็นโรคหัวใจได้
การรักษาที่แพทย์แนะนำ : การรักษาโรคหัวใจขึ้นอยู่กับสภาพและอาการของผู้ป่วยในขณะนั้นว่าเป็นอย่างไร ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้ตัดสินใจในการให้การรักษา เช่น การทำหัตถการสวนหัวใจ การผ่าตัดหัวใจ การใช้ยารักษา เป็นต้น